NEWS
เจาะลึกกฎหมาย / การจัดการแรงงาน / ค่าชดเชย
ค่าชดเชยเป็นเงินประเภทหนึ่งที่บรรดานายจ้างทั้งหลายต่างคงเคยได้ยินและอาจเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยอยู่บ้าง โดยในบทความนี้จะนำท่านไปทำความรู้จักกับความหมายของค่าชดเชย หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายค่าชดเชย และปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งนายจ้างอาจมีข้อสงสัยว่า กรณีใดบ้างที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง และอัตราค่าชดเชยตามกฎหมายมีอย่างไรบ้าง และมีประเด็นอะไรบ้างที่นายจ้างควรให้ความสนใจเกี่ยวกับค่าชดเชย
ความหมายของค่าชดเชย (มาตรา 5 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541)
“ค่าชดเชย” หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายค่าชดเชย ต้องพิจารณาถึงประเด็น ดังต่อไปนี้
- อัตราค่าชดเชยกับการนับอายุงาน (มาตรา 118 วรรคแรก พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541)
อัตราค่าชดเชยขั้นต่ำที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ให้พิจารณาตามอายุงานของลูกจ้าง โดยต้องเป็นลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป สามารถศึกษาอัตราค่าชดเชยขั้นต่ำตามแต่ลำดับอายุงาน ตามด้านล่างนี้
อายุงาน | อัตราค่าชดเชยขั้นต่ำ |
120 วัน – ไม่เกิน 1 ปี | 30 วัน |
1 ปี – ไม่เกิน 3 ปี | 90 วัน |
3 ปี – ไม่เกิน 6 ปี | 180 วัน |
6 ปี – ไม่เกิน 10 ปี | 240 วัน |
10 ปี – ไม่เกิน 20 ปี | 300 วัน |
20 ปี หรือมากกว่า | 400 วัน |
2.ความหมายของการเลิกจ้าง (มาตรา 118 วรรคสอง และมาตรา 118/1 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541)
“การเลิกจ้าง” หมายถึง การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินการกิจการต่อไป
มีข้อสังเกตว่า การเลิกจ้างตามกฎหมายนั้น จะต้องเป็นการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นโดยนายจ้าง หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากนายจ้างเท่านั้นที่มีอำนาจเลิกจ้าง ดังนั้น ในกรณีที่บริษัทมีฐานะเป็นนายจ้าง หากกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท และบริษัทก็ไม่ได้มอบหมายให้กรรมการคนดังกล่าวเลิกจ้างแทนบริษัทด้วย กรรมการนั้นไม่ใช่นายจ้างตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2546) แต่มีข้อสังเกตว่า หากกรรมการคนดังกล่าวเลิกจ้างลูกจ้าง ประกอบกับมีพฤติการณ์ว่าบริษัทได้เชิดกรรมการคนดังกล่าวเป็นตัวแทนให้เลิกจ้างลูกจ้างได้ ก็ถือว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว และเมื่อเป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างย่อมมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไว้
การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง
จากความหมายของการเลิกจ้างดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า กรณีที่ถือเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมาย มี 3 กรณี ได้แก่
- นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ไม่ว่าเพราะสัญญาจ้างสิ้นสุดลงหรือเพราะเหตุอื่น
- ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
- ลูกจ้างเกษียณอายุตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน หรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้
ดังนั้นเมื่อเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งใน 3 กรณีที่กล่าวมานี้ นายจ้างย่อมต้องมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
3.ข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
แม้ว่าลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างก็ตาม นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างคนดังกล่าวได้ หากเข้าข้อยกเว้นดังต่อไปนี้
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันไม่ครบ 120 วัน
- ลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน โดยเป็นงานตามสัญญาจ้างที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง ซึ่งกำหนดให้งานนั้นต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
- งานโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่นแน่นอน
- งานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน
- งานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น
(มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541)
ดังนั้น เมื่อเป็นงานที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้เป็นที่แน่นอนและเป็นงานทั้ง 3 ประเภทนี้แล้ว หากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนด นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง แต่หากไม่ใช่งานทั้ง 3 ประเภทนี้แล้ว แม้นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงทำสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนก็ตาม เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ตามที่สัญญาจ้างกำหนดแล้ว ก็ถือว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า สัญญาจ้างประเภทนี้ คือ สัญญาจ้างที่มีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างไว้อย่างชัดเจนแน่นอน โดยเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง สัญญาจ้างเป็นอันระงับสิ้นสุดกันทันที โดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดนั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526-3530/2530) ดังนั้น สัญญาที่กำหนดว่าคู่สัญญาสามารถบอกเลิกสัญญากันเมื่อไหร่ก็ได้โดยบอกกล่าวให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 2 เดือน สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5180/2542)
3) ความผิดของลูกจ้าง (มาตรา 119 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541)
นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โดยนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งหากเป็นความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย
1.กรณีลูกจ้างลาออกจากงานเอง
นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เนื่องจากการที่ลูกจ้างมีความประสงค์บอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานแก่นายจ้างเอง ซึ่งเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจของลูกจ้าง จึงไม่ถือเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง
2.กรณีลูกจ้างทำงานครบกำหนดสัญญาจ้าง
นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เนื่องจากมาตรา 118 วรรคสาม ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง หากเป็นงานที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานนั้นเป็นงานตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการจ้างไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อครบกำหนดการจ้าง ลูกจ้างจะสิ้นสุดการจ้างทันที โดยที่นายจ้างและลูกจ้างไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ทั้งนี้ งานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน ที่จะเข้าข้อยกเว้นของนายจ้างที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างนั้น จะต้องเป็นงานตามที่ระบุไว้ในมาตรา 118 วรรคสี่ ซึ่งเป็นงานที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงทำสัญญาจ้างกันเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เริ่มจ้าง โดยกำหนดให้งานดังกล่าวต้องแล้วเสร็จภายใน 2 ปี และเป็นงานอันมีลักษณะหนึ่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ คือ 1) งานตามโครงการที่ไม่ใช่งานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า งานดังกล่าวต้องมีกรอบระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือ 2) งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือ 3) งานที่เป็นไปตามฤดูกาล โดยได้จ้างในช่วงระยะเวลาของฤดูกาลนั้น
3.กรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง เนื่องจากลูกจ้างกระทำความผิดวินัย
นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง หากเข้ากรณีที่ลูกจ้างกระทำความผิดซึ่งเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 เช่น ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นต้น
4.กรณีลูกจ้างใช้สิทธิเกษียณอายุก่อนครบกำหนดตามประกาศโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดที่นายจ้างได้มีคำเชิญไปยังลูกจ้างที่มีคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมตามประกาศดังกล่าว
นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ใช้สิทธิเกษียณอายุก่อนครบกำหนด เนื่องจากเป็นการที่ลูกจ้างลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งการที่ลูกจ้างได้รับการอนุมัติให้ออก เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่นายจ้างเสนอให้ตามโครงการดังกล่าวนั้น ถือเป็นการทำข้อตกลงระงับสัญญาจ้างร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งไม่ถือเป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499-528/2544)
5.กรณีลูกจ้างทำงานครบเกษียณอายุ
นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เนื่องจาก มาตรา 118/1 กำหนดให้ การที่ลูกจ้างทำงานจนครบเกษียณอายุนั้น ถือเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสองด้วย ซึ่งหมายความว่า นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเพราะเหตุอื่นใด จึงเป็นการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด และไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2551)
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า กรณีที่ครบกำหนดเกษียณอายุ และต่อมานายจ้างและลูกจ้างที่เกษียณอายุได้ทำสัญญาจ้างกันอีกเป็นปีต่อปี อายุงานของลูกจ้างคนดังกล่าวถึงครบกำหนดเกษียณถือว่าหมดสิ้นไปแล้วจะไม่นำมานับรวมกับอายุงานใหม่ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงจ้างกันอีกต่อจากครบกำหนดเกษียณอายุ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12199 – 12223/2553)
จากบทความข้างต้น คงทำให้นายจ้างเข้าใจถึงภาพรวมของการจ่ายค่าชดเชยชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ในบทความฉบับต่อไป ผู้เขียนจะพาไปทำความรู้จักกับค่าชดเชยพิเศษ ซึ่งเป็นเงินอีกประเภทที่นายจ้างควรให้ความสนใจเช่นกัน
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับและประเด็นอื่นๆเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน สามารถติดตามบทความและข่าวสารทางกฎหมายได้ที่ https://gvathai.com/news หรือ Facebook Page : GVA Law Office – Thailand สำนักงานกฎหมายจีวีเอ หรือสนใจขอรับคำปรึกษาทางกฎหมาย ติดต่อเราได้ที่ Facebook Page หรือ +66(0)2-116-9269
Surinthorn Pamornchokprasop
Nawapon Yaempiromsri